ติดตามข่าวสารทางสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยได้ที่หัวข้อด้านซ้ายมือผู้อ่านครับ เเละขออภัยครับสำหรับท่านที่ส่งให้ดูพระหรือให้บูชาพระทาง emailบางครั้งผู้จัดไม่ได้เข้าไปตอบกลับหรือตอบกลับเเต่ก็เป็นเเค่พื้นฐานตามหลักสากลนิยมเท่านั้นเเต่ก็มีอาจารย์หลายๆท่านที่วงการยอมรับเเละที่ตรวจเช็คจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยเท่านั้นในการชี้ขาดในการส่งประกวดเเล้วเเต่ละงานควรเลือกดูด้วยตัวท่านเองหรือถ้าให้มั่นใจควร ส่งพระให้สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยออกใบรับรองพระแท้ซึ่งสมาคมจะเชิญผู้ชำนาญการพระเเต่ละประเภทมาทำการตรวจสอบ สมาคมจัดประมาณปีละ ๒-๓ ครั้ง ณ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ชั้น ๓ ในเเต่ละปีก็สามารถติดตามข่าวสารจากสมาคมได้น่ะครับจากที่กล่าวมาเเล้ว ขอบคุณครับ

หน้าเว็บ

พระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

พระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย                                                                                                                                              พระกรุวัดทัพเข้าก็เป็นพระกรุหนึ่งที่นักเล่นพระรู้จักชื่อเสียงกันดี แต่พระกรุนี้ก็นับว่ามีของเข้ามาให้เห็นในสนามน้อยมาก น้อยมากจนขนาดหลาย ๆ คนเริ่มจะลืม ๆ ไปเสียแล้ว หากเป็นนักเล่นพระรุ่นใหม่ ๆ ก็คิดว่าหลายคนไม่เคยได้ยิน หรือว่ารู้จักพระกรุวัดทัพเข้ามาก่อน


สำหรับชื่อ “วัดทัพเข้า” ก็มีการเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเป็น “วัดทัพข้าว” บ้างก็ว่าเป็น “วัดทับเข้า” และบ้างก็ว่าเป็น “วัดทับข้าว” ทั้งนี้ก็เนื่องจากวัดทัพเข้าที่เป็นที่มาของพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย หรือที่เรียกกันหลาย ๆ แบบนั้น ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยของวัดให้เห็นอยู่ จะมีก็แต่เนินดินและทรากปรักหักพังของอิฐเท่านั้น แต่ก็มีอยู่วัดหนึ่งที่มีมาแต่ครั้งกรุงสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งมีชื่อว่า ....

วัดซ่อนข้าว

วัดซ่อนข้าว เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองสุโขทัย เข้าใจว่าคงจะเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เพราะไม่งั้นก็คงจะไม่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง แต่เมื่อผ่านกาลเวลามายาวนานนับเป็นหลาย ๆ ร้อยปี วัดซ่อนข้าวก็มีการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ซึ่งต่อมาทางกรมศิลปากรก็ได้ทำการบูรณะให้ดีขึ้น

และก็ด้วยเหตุนี้ จึงมีบางคนเข้าใจว่าพระกรุวัดทัพเข้า ก็คือพระกรุวัดซ่อนข้าวนี่เอง

แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่!

เพราะว่าพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย  มีการพบคนละแห่งคนละที่กับวัดซ่อนข้าว

วัดทัพเข้าเดิมนั้นตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางทิศใต้ ต่อมาวัดได้มีการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ประกอบกับว่ามีคนขุดทำลายเพื่อหาของมีค่า จึงทำให้ไม่เหลือสภาพของวัดคงอยู่ จะมีก็แต่เนินดิน และทรากปรักหักพังของก้อนอิฐ

ที่บริเวณนี้ เป็นที่พบพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย
สำหรับชื่อ “วัดทัพเข้า” ก็มีการสันนิษฐานกันว่า สมัยโบราณเมื่อเวลามีข้าศึกยกทัพมาตีเมืองสุโขทัย ได้ยกทัพมาตีทางทิศใต้ของกำแพงเมือง ครั้นต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบก็ได้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณนี้ เลยเรียกว่าวัดทัพเข้า ส่วนที่เรียกว่า “วัดทัพข้าว” ก็สันนิษฐานว่าบริเวณนี้แต่ก่อนเป็นที่เก็บเสบียงข้าวสำหรับกองทัพเวลาออกไปทำศึก ส่วนที่เรียกว่า “วัดทับเข้า” ก็อาจจะมาจากคำว่า “ทับ” ซึ่งเป็นคำไทยแต่โบราณที่แปลว่า “กระท่อม” หรือ “ที่อยู่อาศัยชั่วคราว” โดยอาจจะสันนิษฐานว่าเมื่อข้าศึกยกทัพมาตีเมืองสุโขทัยได้ตั้งกองทัพพักอยู่ที่บริเวณนี้ และหรือที่เรียก “วัดทับข้าว” ก็อาจจะมีการสันนิษฐานแบบเดียวกับ “วัดทัพข้าว” คือเป็นสถานที่เก็บเสบียงข้าวสำหรับการยกทัพออกศึก

วัดทัพเข้า วัดทัพข้าว วัดทับเข้า และหรือวัดทับข้าว ชื่อไหนจะถูกก็มีความเป็นไปได้พอ ๆ กัน แต่รู้สึกว่านักวิชาการและคนพื้นที่จะเชื่อไปทาง “วัดทับข้าว” มากกว่าอย่างอื่น

พระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย  นับได้ว่าเป็นพระเนื้อผงที่มีอายุการสร้างเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย ด้วยว่าเป็นพระเครื่องศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งในบรรดาพระกรุเนื้อผงต่าง ๆ ที่มีการพบเห็น และเล่นหาในวงการอยู่นี้ ล้วนแต่เป็นพระกรุเนื้อผงที่มีการสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น การที่มีการพบพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย  อย่างน้อย ๆ ก็เป็นการหักล้างความเชื่อที่มีมาแต่ก่อนว่า พระเนื้อผงที่มีการสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ลงได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วในสมัยอยุธยา ก็มีการสร้างพระเนื้อผงแล้วเช่นกัน เพียงแต่ไม่ค่อยพบเห็นกันแพร่หลายเท่านั้นเอง

พระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย  ที่มีการพบเห็นและนิยมเล่นหาเป็นมาตรฐานก็มีอยู่ ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ยืนกับพิมพ์นั่ง แต่พิมพ์ยืนจะมีการพบเห็นกันแพร่หลายกว่า

พระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย พิมพ์ยืน สัณฐานเป็นรูปรีคล้ายแตงกวาหรือไข่ผ่าซีก ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธปฏิมากร ปางยืนประทานพรประทับอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว โดยยกพระหัตถ์ (มือ) ข้างซ้ายทาบพระอุระ (อก) พระกร (แขน) ด้านขวาปล่อยวางทอดแนบพระวรกาย (ลำตัว) พุทธลักษณะคล้าย ๆ กับพระร่วงยืนศิลปะลพบุรี แต่พระร่วงยืนศิลปะลพบุรีจะยกพระหัตถ์ (มือ) ข้างขวา ส่วนพิมพ์นั่งจะเป็นรูปพระพุทธปฏิมากร ประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ คล้าย ๆ กับพระร่วงนั่งศิลปะสุโขทัย รายละเอียดทั่ว ๆ ไปทั้งพิมพ์นั่งและพิมพ์ยืน จะไม่ค่อยติดลึกคมชัดเท่าไหร่

เนื้อของพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย  เป็นเนื้อผงขาวละเอียดแบบปูนเปลือกหอยมีความแห้งผาก และปรากฎรอยรานเป็นบางแห่ง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากผ่านระยะอายุการสร้างมาเป็นร้อยปี นอกจากเนื้อสีขาวแล้วก็ยังมีการพบเนื้อสีดำอีกด้วย แต่เนื้อสีขาวจะเด่นและได้รับความนิยมมากกว่า จนทำให้พระเนื้อดำขาดความสนใจ เลยเป็นเหตุทำให้พระเนื้อสีดำค่อย ๆ หายไปจากวงการ เพราะว่าพระก็ไม่ค่อยพบเห็นอยู่แล้ว ขนาดเนื้อสีขาวก็ยังพบยาก พอมาพบเนื้อสีดำก็เลยเข้าใจว่าเป็นพระของที่อื่น พระเนื้อสีดำจึงค่อย ๆ หายไปจากวงการไปอย่างน่าเสียดาย

จากการที่วัดทัพเข้าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเมือง อันถือว่าเป็น วัดอรัญญิก (วัดป่า) สำหรับเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในวิปัสสนากรรมฐาน จึงทำให้เชื่อได้ว่าพระสงฆ์ผู้สร้างพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย  เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และบรรลุธรรมชั้นสูง เป็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง พุทธคุณของพระกรุวัดทัพเข้าจึงสูงส่งด้วยพลังจิตอันสะอาดและบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเหล่านั้น

ในด้านประสบการณ์ของพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย  มีผู้นำไปใช้แล้วได้ผลในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน ตั้งแต่เมตตามหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ป้องกันได้ทั้งเขี้ยว งา และศาสตราวุธต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวง อีกทั้งยังอำนวยความเจริญก้าวหน้าได้อย่างยิ่งยวด เพราะเหตุนี้จึงทำให้คนพื้นที่ จ. สุโขทัย จึงให้ความนิยมและหวงแหนพระกรุวัดทัพเข้ากันอย่างที่สุด

อนึ่ง เนื่องจากพระกรุวัดทัพเข้าหรือพระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย เป็นพระเนื้อผง จึงมักมีการโมเมเอาพระเนื้อผงของที่อื่นมาเล่นเป็นกรุวัดทัพเข้ากันมาก จึงต้องระมัดระวังกันให้ดี แต่ถ้าพูดถึงพิมพ์ของพระกรุวัดทัพเข้าก็น่าจะมีมากกว่า ๒ พิมพ์ที่กล่าวถึงนี้ เพราะว่ามีการพบพระเนื้อผงขาวพิมพ์แบบเดียวกันที่กรุวัดทัพเข้า จากที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นวัดร้างและวัดเก่าแก่ในเขต จ. สุโขทัยเหมือนกันบ้างประปราย ซึ่งเข้าใจว่าเมื่อมีการสร้างพระเนื้อผงขาวที่วัดทัพเข้าเมื่อครั้งกระโน้น คงจะมีการสร้างมากพอสมควร เพราะการสร้างพระเครื่องเพื่อสืบทอดพระศาสนาสมัยก่อนถือเป็นงานใหญ่งานสำคัญ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้มีการแบ่งพระเครื่องไปบรรจุกรุตามสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้ด้วยเพียงแต่บริเวณที่เคยเป็นวัดทัพเข้าเดิมมีการพบพระเนื้อผงขาวมากกว่าที่อื่น ๆ เท่านั้นเอง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาใช้คำสุภาพเเละไม่ใช้คำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเเก่ส่วนรวมเเละบุคคลอื่นขอบคุณครับ

กระดานพูดคุยเเสดงความคิดเห็นทั่วไป

comments powered by Disqus

เเสดงความคิดเห็นผ่านFacebook