ติดตามข่าวสารทางสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยได้ที่หัวข้อด้านซ้ายมือผู้อ่านครับ เเละขออภัยครับสำหรับท่านที่ส่งให้ดูพระหรือให้บูชาพระทาง emailบางครั้งผู้จัดไม่ได้เข้าไปตอบกลับหรือตอบกลับเเต่ก็เป็นเเค่พื้นฐานตามหลักสากลนิยมเท่านั้นเเต่ก็มีอาจารย์หลายๆท่านที่วงการยอมรับเเละที่ตรวจเช็คจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยเท่านั้นในการชี้ขาดในการส่งประกวดเเล้วเเต่ละงานควรเลือกดูด้วยตัวท่านเองหรือถ้าให้มั่นใจควร ส่งพระให้สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยออกใบรับรองพระแท้ซึ่งสมาคมจะเชิญผู้ชำนาญการพระเเต่ละประเภทมาทำการตรวจสอบ สมาคมจัดประมาณปีละ ๒-๓ ครั้ง ณ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ชั้น ๓ ในเเต่ละปีก็สามารถติดตามข่าวสารจากสมาคมได้น่ะครับจากที่กล่าวมาเเล้ว ขอบคุณครับ

หน้าเว็บ

วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ กรรมการตัดสินพระเบญจภาคี

วงการพระเครื่องเมืองไทย มีผู้ที่ดู พระชุดเบญจภาคี (พระสมเด็จ วัดระฆัง/บางขุนพรหม พระซุ้มกอ จ.กำแพงเพชร พระผงสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี พระรอด กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน และ พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก) ได้อย่างเด็ดขาดและแม่นยำ คาดว่าไม่น่าจะเกิน ๑๐๐ ท่าน ทั้งนี้ไม่รวมบางท่านที่อาจจะดูได้ แต่ไม่ยอมแสดงตัวตนให้คนอื่นรู้

งานการจัดอบรมพระสมเด็จวัดระฆังโดยมีอาจารย์ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ,อาจารย์ประจำ อู่อรุณ ส่วนในภาพคนที่ยืนกางเกงขาวให้ประกาศนียบัตรนั้นคืออาจารย์ประจำ อู่อรุณ คนที่นั่งกลางคือวิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ เเละคนนั่งริมด้านขวามือของภาพคืออาจารย์อนุรักษ์ เกิดพร
อาจารย์อนุรักษ์ เกิดพร ใครสนใจค่าอบรม 2500 บาท โทร 0857788448 ครับสำหรับผู้สนใจอยากดูพระสมเด็จวัดระฆังเป็นครับ
ประกาศอบรมพระสมเด็จวัดระฆังครั้งต่อไปปี 2555โดยอาจารย์ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ,อาจารย์ประจำ อู่อรุณ ,อาจารย์อนุรักษ์ เกิดพร ประกาศวันอบรมวิธีศึกษาพระสมเด็จวัดระฆัง ในวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2555 ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกรียติ ข้างหอพระพุทธสิหิงส์ จังหวัดชลบุรี โดยอาจารย์วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ และท่านอื่นๆๆอีกมากมาย ร่วมกับชมรมผู้ผลิตวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนะธรรม มีการออกใบรับรองพระแท้ ในชุดพระเนื้อ ดิน ชิน ผงยอดนิยม โลหะหล่อ ในงานด้วย รับประกันคุณภาพโดยจักรกฤษณ์ พุทธศิลป์ 085 7744884
ประวัติวิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ในส่วนที่มีความรู้ความสามารถมาก และยังยืนยงอยู่ในวงการพระทุกวันนี้ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็น กรรมการตัดสินพระชุดเบญจภาคี ตามงานประกวดพระทั่วๆ ไป น่าจะมีอยู่ไม่กี่สิบท่านเท่านั้น


หนึ่งในจำนวนนั้น คือ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์


เซียนพระรุ่นใหญ่ ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการพระมานานกว่า ๔๐ ปี เรียกได้ว่า มีความอาวุโสสูงสุดท่านหนึ่ง ของวงการพระเครื่องเมืองไทยในขณะนี้

นอกจากเป็นกรรมการตัดสินพระชุดเบญจภาคีแล้ว ในบางครั้ง วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์

ยังได้ไปช่วยตัดสินพระบูชา เทวรูป ทุกยุคสมัย อีกประเภทหนึ่งด้วย

ความสามารถอย่างเยี่ยมยุทธประการหนึ่งของเซียนพระรุ่นใหญ่ท่านนี้ คือ นอกจากจะดูพระชุดเบญจภาคี ได้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว พระหลักยอดนิยมอื่นๆ ก็สามารถพิจารณาได้ว่า พระองค์ไหนแท้ พระองค์ไหนปลอม ได้อย่างครบถ้วนทุกอย่าง
จากความรู้ความชำนาญในด้านนี้มานานปี ทำให้ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ สามารถซื้อพระได้ด้วยตนเอง กล้าตัดสินใจเอง โดยไม่ต้องอาศัยสายตาคนอื่นๆ มาช่วยกันพิจารณา ขณะเดียวกันก็มี "เงิน" พร้อมที่จะซื้อพระได้ทุกเมื่อ หากพอใจ และชอบใจในพระองค์นั้น

ผิดกับบางท่าน ดูพระได้อย่างแม่นยำก็จริง แต่มีเงินไม่พร้อม จะซื้อพระสักองค์หนึ่งที่มีราคาแพง ก็ต้องขอแรงเพื่อนๆ มาร่วมกัน "นั้ง" (หุ้น) กันซื้อ
ขณะที่บางท่าน "เงินพร้อม" แต่สายตาไม่ถึง จะซื้อพระสักองค์จะต้องเอาไป "แห่" กันก่อน เพื่อขอให้เพื่อนๆ ช่วยดูให้ รวมทั้งต้องขอหลักประกันจากผู้ขายด้วยว่า ถ้าหากเป็น พระปลอม จะต้องรับคืนได้ด้วย
ความถึงพร้อมใน ๒ ประการนี้ ทำให้ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ มีโอกาสได้พระแท้พระหลักยอดนิยมอยู่เสมอๆ รวมทั้งพระพุทธรูปยุคเก่า เทวรูปหลายสมัย ก็มีมากมาย จนต้องนำพระทั้งหมด ไปฝากไว้ในตู้เซฟของธนาคาร
พระที่แขวนติดตัวทุกวันนี้ จึงมีแต่พระพื้นๆ เพียงไม่กี่องค์เท่านั้นเอง

ก้าวย่างสู่วงการพระของ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ เล่าว่า "ผมเกิดที่บางลำพู ละแวกหลังวัดบวรฯ สมัยเด็กๆ ประมาณปี ๒๔๙๔ เห็นผู้ใหญ่นั่งดูพระและคุยกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความเหนียวของพระแต่ละองค์ ก็เลยเกิดความสนใจขึ้นมาบ้าง คิดตามประสาเด็กๆ ว่า ถ้าหากแขวนพระแล้วแทงไม่เข้า ยิงไม่ออก ถูกรถเฉี่ยวชนก็ไม่เป็นไร นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย สมัยนั้นพระปลอมไม่ค่อยมี พอโตขึ้นมาหน่อยได้เห็นพระวัดพลับ องค์พระเล็กๆ แปลกตาดี จึงเริ่มสนใจ ขอเงินพ่อแม่ไปซื้อพระวัดพลับ องค์ละสิบกว่าบาท จนมีพระวัดพลับหลายองค์ด้วยกัน"
วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ เล่าอีกว่า พอเรียนหนังสือจบ ได้เข้าทำงานที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้มีรายได้ พอสมควร ช่วงนั้นจึงมีโอกาสได้ซื้อพระบ่อยๆ โดยไปหาซื้อที่ ใต้ถุนศาลอาญา ใกล้กับสนามหลวง

ที่นั่น มีผู้นำพระมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันหลายเจ้า และเป็นที่ชุมนุมของเซียนพระทั้งหลาย ตลอดจนบรรดาข้าราชการที่ทำงานแถวนั้น ล้วนเป็นลูกค้าของสนามพระแห่งนี้
ต่อมาทางศาลอาญาได้ปรับปรุงสถานที่ กลุ่มนักซื้อขายพระเลยต้องย้ายไปเล่นกันที่ใต้ต้นมะขาม ซึ่งมี มหาผัน ตั้งร้านขายกาแฟอยู่ตรงนั้น เรียกว่า "บาร์มหาผัน" ใกล้กับวัดบุรณศิริมาตยาราม และโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในทุกวันนี้
ช่วงนั้นมีโอกาสรู้จักกับ อาจารย์เซีย ที่วงการพระยกย่องเป็นปรมาจารย์ทางนี้ รวมทั้งเซียนพระรุ่นเก่าๆ อีกหลายท่าน ได้รับความเมตตาจากท่านเหล่านั้น แบ่งพระให้ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระแท้ทั้งนั้น โดยเฉพาะพระวัดพลับ ซึ่งชอบเป็นพิเศษ ทำให้มีพระวัดพลับหลายสิบองค์

ต่อมาสนามพระได้ย้ายเข้าไปอยู่ใน วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ ริมรั้ววัด ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นเริ่มสนใจ พระสมเด็จ วัดระฆัง ขึ้นมาแล้ว องค์แรกที่ซื้อ คือ พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม
ปี ๒๕๐๐ วัดใหม่อมตรส (บางขุนพรหม) ได้ทำพิธีเปิดกรุเจดีย์องค์ใหญ่อย่างเป็นทางการ เพื่อเอา พระสมเด็จ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ธนบุรี ได้ปลุกเสกให้ แล้วบรรจุเอาไว้ในเจดีย์ใหญ่องค์นี้ ขึ้นมาให้ชาวบ้านทำบุญบูชากัน องค์ละไม่กี่พันบาท

ตอนแรกๆ มีเซียนพระบางคน โจมตีว่า เป็นพระทำขึ้นใหม่ ไม่ใช่พระที่สมเด็จฯ โต ปลุกเสก ต่อมามีเซียนพระรุ่นใหญ่ พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ต่างยอมรับว่า เป็นพระแท้แน่นอน ทำให้มีการซื้อขายพระสมเด็จ กรุบางขุนพรหม กันในวงกว้างขึ้น พร้อมกับราคาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ช่วงนั้น เซียน วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ได้เช่าพระสมเด็จ กรุบางขุนพรหม เอาไว้หลายองค์ มีอยู่องค์หนึ่ง คือ พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร มีหน้าตาชัดเจนมาก นับเป็น พระสมเด็จ พิมพ์อกครุฑ ที่สวยสมบูรณ์คมชัดที่สุดของวงการพระเมืองไทย จนหนังสือพระเครื่องทุกฉบับ จะต้องนำภาพพระสมเด็จองค์นี้ไปลงปก หรือในเล่มอยู่เป็นประจำ

พระสมเด็จองค์นี้ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ บอกว่า ได้มาจากลูกเจ้าพระยาท่านหนึ่ง ซึ่งสมัยเปิดกรุพระท่านได้เช่าเอาไว้หลายองค์ ทุกวันนี้มีคนมาติดต่อขอเช่าพระสมเด็จองค์นี้อยู่เสมอๆ โดยให้ตั้งราคาตามใจชอบ ก็ได้แต่ตอบปฏิเสธไป เพราะพระสมเด็จองค์นี้ ถือเป็นองค์สัญลักษณ์ของวิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ โดยตรง จึงรักและหวงมากเป็นพิเศษ
แหล่งชุมนุมของเซียนพระ สมัยนั้น อีกแห่งหนึ่งคือ ร้านถ่ายรูป "โมนาลิซา" ของ ประชุม กาญจนวัฒน์ อยู่ที่สี่แยกหลานหลวง (ทุกวันนี้คือบริเวณธนาคารกรุงศรีอยุธยา) โดยเฉพาะช่วงเย็น เซียนพระดังๆ หลังจากหลังเลิกงานที่ทำประจำแล้ว จะไปพบปะสังสรรค์ พูดคุยกันเรื่องพระ พร้อมกับซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
ประชุม กาญจนวัฒน์ เป็นช่างภาพมืออาชีพผู้มีความรู้ความชำนาญมาก สามารถถ่ายภาพพระเครื่องได้โดยไม่มีเงาปรากฏให้เห็น เป็นคนแรกของวงการพระ เซียนพระส่วนใหญ่จึงต้องเอาพระไปถ่ายภาพที่นั่น
ขณะเดียวกัน "พี่ชุม" ก็มีความรู้เรื่องพระเครื่องพระบูชา มีภาพพระมากมาย ก็เลยจัดพิมพ์เป็นตำราพระเครื่องขึ้นมาขาย อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "ตำราพระเล่มแรก" ของเมืองไทย ก็ไม่น่าจะผิดพลาดนัก
หนังสือพระของ "พี่ชุม" เล่มที่พิมพ์เป็นครั้งแรกนั้น ได้มีการจัดพิมพ์ต่อๆ กันมาอีกหลายครั้ง จนถึงทุกวันนี้ ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนังสือ "เล่มครู" ไปแล้ว
วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  เป็นผู้ที่ให้ความเคารพนับถือ "พี่ชุม" มาก พระที่มีอยู่ในทุกวันนี้ หลายองค์มีภาพอยู่ในหนังสือพระ "เล่มครู" ดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะ พระลพบุรีพิมพ์ซุ้มขีดรัศมี เนื้อชินเงิน ที่มีเพียงองค์เดียวในวงการพระ
นอกจากจะซื้อ พระสมเด็จ เพิ่มขึ้นมาแล้ว ในช่วงนั้น วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ยังให้ความสนใจ พระหลักยอดนิยม อื่นๆ อีกหลายประเภท รวมทั้งพระพุทธรูป และเทวรูปยุคเก่าอีกด้วย ทำให้ชื่อเสียงของ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ โด่งดังไปทั่ววงการ รวมทั้งที่ทำงาน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ แม้ว่าจะมีตำแหน่งงานไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีผู้บริหารธนาคารเก่าแก่แห่งนี้ทุกยุคทุกสมัย ต่างเอาพระมาให้ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  ดูอยู่เสมอๆ

ครั้งหนึ่ง ท่านเล้ง ศรีสมวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาหาที่ห้องทำงาน เอาพระมาให้ดู ซึ่งล้วนแต่เป็นพระแท้ทั้งสิ้น และยังสั่งให้ช่วยหาพระให้ท่านด้วย เพื่อเอาไปแจกคนไทย เวลาไปต่างประเทศ ท่านบอกว่า ดีกว่าเอาของอย่างอื่นไปฝาก

อีกท่านหนึ่ง คือ หลวงเฉลิมสุนทรการ ผู้บริหาร ร.ส.พ. มาให้หาพระขุนแผน พลายคู่พลายเดี่ยว กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งสมัยนั้นยังมีราคาไม่แพงนัก ท่านบอกว่า จะเอาไปแจกเพื่อนชาวลาว เขาชอบพระพิมพ์นี้กันมาก เรียกได้ว่า นอกจากทำงานที่ธนาคารแล้ว วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ยังมีหน้าที่พิเศษ คือ ดูพระ และหาซื้อพระให้ผู้ใหญ่หลายวงการ เพราะต่างยอมรับนับถือในสายตาการดูพระของ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  ตลอดจนนิสัยใจคอ ที่เป็นคนตรงไปตรงมา และให้ความจริงกับทุกคนเสมอ

ด้วยเหตุนี้ รัฐมนตรีแทบทุกรัฐบาล นักการเมืองดังๆ ข้าราชการผู้ใหญ่ นักธุรกิจใหญ่ๆ ฯลฯ จึงมักจะเชิญให้ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  ไปช่วยดูพระที่บ้านเป็นประจำ
เซียน วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ได้แนะนำหลักการสะสมพระ (ที่คนในวงการพระส่วนใหญ่ใช้คำว่า "เล่นพระ") ว่า..."วิธีการง่ายๆ คือ ต้องดูคนเป็น ดูว่าคนไหนเล่นพระดี คนไหนเล่นแต่พระปลอม โดยดูจากพระที่เขามีอยู่ พร้อมทั้งฟังจากคนในวงการเดียวกัน ซึ่งเขาจะวิจารณ์กันเองว่า คนไหนเล่นพระแบบไหน ดีไม่ดีอย่างไร เมื่อรู้แล้วไปซื้อพระจากคนที่เขาว่า เป็นคนเล่นพระดี จากนั้นก็เอาพระนั่นแหละไปให้คนอื่นดูต่อ ฟังเขาวิจารณ์ หรือส่งพระเข้าประกวด ก็จะรู้แน่ว่า พระที่ซื้อมานั้น แท้หรือไม่ ?"
วิธีง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งที่ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ แนะนำคือ เอาพระไปเสนอขายตามร้านพระที่มีชื่อหน่อย ถ้าเราซื้อมา ๑,๐๐๐ บาท ก็เปิดราคาไปเลย สัก ๕,๐๐๐ บาท หากเขาต่อรองลงมา แสดงว่าพระเราแท้ หากเขายื่นพระคืนให้เฉยๆ ไม่บอกกล่าวอะไรเลย แสดงว่าเป็นพระปลอม

การซื้อพระจากคนที่เล่นพระดี มีความจริงใจต่อกัน ตรงไปตรงมา จะเป็นหนทางที่ทำให้เราได้พระดีพระแท้พระสวยอยู่เสมอ จากนั้นก็เอาพระเหล่านี้มาศึกษาพิจารณาให้ละเอียด ส่องดูด้วยแว่นขยาย ดูเนื้อ ดูพิมพ์ทรง จดจำให้แม่น ไปพบเห็นพระที่ไหนก็พอจะดูได้ว่า เป็นพระแท้ หรือพระปลอม หากชำนาญมากๆ ก็สามารถซื้อพระได้ด้วยตนเอง
ในสมัยนี้มี หนังสือพระ ออกมาวางขายมากมาย ควรจะซื้อมาดูภาพต่างๆ ให้ติดตา และจดจำเอาไว้ การเล่นพระต้องลงทุนกันบ้าง ถึงจะได้พระแท้มาใช้
หากไม่ยอมลงทุนเลย ไม่ยอมดูหนังสือ ไม่คบหาสมาคมกับคนอื่นๆ กันบ้าง โอกาสจะได้พระแท้นั้นยากยิ่ง โดยเฉพาะประเภทซื้อพระสมเด็จราคาถูกๆ องค์ละไม่กี่ร้อยกี่พันบาท เปลืองเงินเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อันใดเลย เพราะพระเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็น พระปลอม ทั้งนั้น

ในฐานะที่เป็นผู้ชำนาญการดู พระสมเด็จ วัดระฆัง และบางขุนพรหม ได้อย่างแม่นยำ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ได้ให้ข้อคิดว่า พระสมเด็จ ที่วงการพระยอมรับเป็นมาตรฐานสากลในการซื้อขายกันนั้นมี ๑๐ พิมพ์ ฝั่งวัดระฆังมี ๕ พิมพ์ คือ พิมพ์ทรงพระประธาน (หรือพิมพ์ใหญ่) พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์ปรกโพธิ์ ส่วนทางฝั่งพระนคร กรุวัดใหม่อมตรส (บางขุนพรหม) มีเพิ่มจากวัดระฆังอีก ๕ พิมพ์ คือ พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์ฐานคู่ และพิมพ์ปรกโพธิ์ แม่พิมพ์เหล่านี้ถือเป็นแม่พิมพ์หลัก แกะพิมพ์โดยช่างหลวง (ช่างสิบหมู่) การกดพิมพ์องค์พระมากๆ แม่พิมพ์ย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่จุดใหญ่จะต้องเหมือนกัน เหมือนกับการถ่ายภาพคนหลายๆ ครั้ง ท่าทางของคนนั้นอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง คอเอียงซ้ายเอียงขวา ยิ้มบ้างไม่ยิ้มบ้าง แต่เค้าใบหน้าของคนนั้น จะเหมือนกันทุกภาพ
อันนี้เป็นจุดศึกษาว่า ทำไมพระสมเด็จ พิมพ์เดียวกัน แต่ไม่เหมือนกันในทุกซอกทุกมุมเลยทีเดียว

พระสมเด็จสมัยก่อน ของปลอมไม่ค่อยมี ถึงมีก็มีจุดแตกต่างกับของแท้มาก เพราะเป็นการสร้างโดยแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ ย่อมไม่มีโอกาสเหมือนกันหมด

แต่ทุกวันนี้ พระสมเด็จมีของปลอมชนิดใกล้เคียงมาก การเช่าหาจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ พระสมเด็จปลอมทุกวันนี้ คนสร้างลงทุนซื้อพระแท้ แล้วเอามาถอดพิมพ์ จากนั้นจะซื้อพระกรุพระเก่าที่ชำรุด หรือพระไม่สวย เอามาบดให้ละเอียด แล้วกดพิมพ์ทำเป็นพระปลอมขึ้นมา องค์พระจึงมีความใกล้เคียงกับพระแท้มาก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้รอบคอบ ก็ไม่พ้นสายตาของเซียนพระผู้ชำนาญพระสายนี้ไปได้ เพราะความเก่า ความแห้งของมวลสาร ย่อมมีความแตกต่างกัน

พระอีกประเภทหนึ่งที่ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ชอบมาก คือ พระปิดตา ของพระเกจิอาจารย์ยุคเก่า อาทิ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ทับ วัดทอง หลวงปู่จัน วัดโมลี ผู้สร้างพระปิดตาแร่บางไผ่อันโด่งดัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระปิดตาของ หลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่ทับ และ หลวงปู่จัน เป็นการสร้างด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ หล่อทีละองค์ โดยสร้างแม่พิมพ์ลอยองค์ด้วยหุ่นเทียน เอาเส้นยันต์กลมๆ แบบเส้นขนมจีน ซึ่งเป็นเทียนไข กดติดกับองค์พระ จากนั้นเอาดินพอก แล้วเผาให้ดินแม่พิมพ์ให้แข็ง ขณะเดียวกัน หุ่นเทียนที่เป็นองค์พระจะละลายไหลออกมา หลวงปู่ผู้สร้างพระจะเทเนื้อโลหะเหลวลงไปแทนที่เนื้อเทียนที่ไหลออกไปแล้ว พอเนื้อโลหะเย็นก็ทุบแม่พิมพ์ดินออก จะได้องค์พระปิดตาที่มีเส้นยันต์ที่นูนหนางดงามอลังการมาก นับเป็นศิลปะเฉพาะตัว ที่เกิดมาจากภูมิปัญญาของพระเกจิอาจารย์ในยุคนั้นโดยตรง

พระปิดตาที่สร้างด้วยวิธีนี้ จึงมีลักษณะของพิมพ์ทรงองค์ไม่เหมือนกันทีเดียว จะต้องแตกต่างกันไปเล็กๆ น้อยๆ และขนาดองค์พระจะไม่เท่ากันด้วย หากไปพบพระปิดตา ๒ องค์ เหมือนกันทุกอย่าง ขนาดก็เท่ากัน แสดงว่าต้องมีองค์ใดองค์หนึ่งเป็นพระปลอมแน่นอน
พระปิดตาของเกจิอาจารย์เหล่านี้ ล้วนเป็นที่พระปิดตาในดวงใจของ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ มาช้านาน แม้ทุกวันนี้ หากพบเห็นองค์สวยๆ ก็ยังเช่าหาอยู่เสมอ

นอกจากชอบการสะสมพระเป็นชีวิตจิตใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ชอบมากเป็นพิเศษ คือ ลีลาศ โดยมองว่าเป็นศิลปะชั้นสูงอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นออกกำลังกายไปด้วย
ความสนใจในเรื่องลีลาศไม่ใช่ธรรมดา เพราะ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  มีความสามารถจนถึงระดับแชมป์ลีลาศแห่งประเทศไทยหลายสมัย อีกทั้งยังมีโอกาสได้เรียนและเต้นคู่กับแชมป์ลีลาศระดับโลกมาแล้ว จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตัดสิน การชิงแชมป์ลีลาศในเมืองไทยเป็นประจำ และยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารและวิชาการ สมาคมลีลาศแห่งประเทศไทย และเป็นอุปนายก สมาคมครูลีลาศแห่งประเทศไทย อีกตำแหน่ง
ในส่วนของวงการพระเครื่องพระบูชา วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ บอกว่า การสะสมพระมานานปี มีพระในครอบครองมากๆ พอถึงจุดหนึ่ง มีความอิ่มตัว เซียนพระหลายท่าน จึงต้องถ่ายเทพระออกไป หรือเปลี่ยนมือกันขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  มองว่า เป็นของธรรมดาในวงการพระ เมื่อสะสมพระมานานๆ ย่อมเกิดความเบื่อขึ้นมาบ้างก็ได้ บางคนลูกหลานไม่ยอมรับสานต่อ ก็ต้องปล่อยพระออกไป นักสะสมพระดังๆ ทุกรุ่นที่ผ่านมา ล้วนเป็นเช่นนี้ เรียกว่า สมบัติผลัดกันชม ก็ได้

โดยส่วนตัวของ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์ ก็มีเหมือนกัน ที่ปล่อยพระบางองค์ออกไป พระบางพิมพ์ได้ของสวยกว่า ก็ต้องปล่อยองค์สวยน้อยกว่าออกไป จะได้หมุนเวียนเปลี่ยนมือไป พระส่วนใหญ่ที่ปล่อยไปนั้น ไม่ได้เสนอขายใคร แต่คนอยากได้ โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ จะเป็นฝ่ายมาขอซื้อมากกว่า
การปล่อยพระของ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  จึงมิใช่เพื่อความจำเป็นเรื่องเงินทอง เพราะทุกวันนี้ ชีวิตความเป็นอยู่หลังจากเกษียณอายุงานจากธนาคารไทยพาณิชย์มาแล้ว ก็ปกติสุขดี มีกินมีใช้ตามอัตภาพ ไม่ได้ดิ้นรน หรือทำตัวให้หรูหราแต่ประการใด
ทุกวันนี้ วิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์  มีอายุมากขึ้น การเข้าสู่วงการพระจึงน้อยลงบ้าง งานประกวดพระก็ไปช่วยงานเขาบ้างเป็นบางครั้งบางคราว
แต่สิ่งที่ยังปฏิบัติอยู่เป็นประจำคือ การไปนั่งดื่มกาแฟ พบปะพูดคุยเรื่องพระกับเพื่อนๆ ที่มีรสนิยมเดียวกัน ที่ร้านกาแฟในศูนย์การค้าดังกลางกรุงเทพฯ ทำให้ชีวิตทุกวันนี้ไม่เคยเงียบเหงาแต่ประการใด










0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณาใช้คำสุภาพเเละไม่ใช้คำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเเก่ส่วนรวมเเละบุคคลอื่นขอบคุณครับ

กระดานพูดคุยเเสดงความคิดเห็นทั่วไป

comments powered by Disqus

เเสดงความคิดเห็นผ่านFacebook